อัล อุฎหิยะฮฺ การเชือดสัตว์กรุบ่าน
อัล อุฎหิยะฮฺ การเชือดสัตว์กรุบ่าน
โดย อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด
ความหมายของอัล – อุฎหิยะฮ์
อัล-อุฎหิยะฮ์ ( اَلأُضْحِيَةُ ) หมายถึง สัตว์จำพวกอูฐ,วัว,แพะหรือแกะที่เชือดเนื่องในโอกาสอีดอัฎฮา ( عِيْدُ اْلأَضْحَى ) เพื่อแสดงออกถึงความยินดีและเต็มใจ ในการพลีทรัพย์สินและปฏิบัติตนเพื่อความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์
การเชือดสัตว์อุฎหิยะฮ์สามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า เชือดกุรบาน และมีความหมายเช่น เดียวกับคำว่าอุฎหิยะฮ์ คือ สัตว์ที่เตรียมไว้เชือดเพื่อแสดง ความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์
ฮู่ก่มและหลักฐานการเชือดสัตว์กุรบาน
ฮู่ก่มหรือข้อสรุปอย่างเป็นทางการของการเชือดสัตว์อุฎหิยะฮ์นั้น ยังคงเป็นประเด็นความขัดแย้งในหมู่นักวิชาการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ทรรศนะที่ 1
อิหม่ามอาบูฮานีฟะฮ์,มาลิก,อัล-เอาซาอีย์,อัษ-เซารีย์,ร่อบีอะฮ์ และนักวิชาการผู้ทรง คุณวุฒิอีกหลายท่านมี ทรรศนะว่า การเชือดสัตว์กุรบานนั้นเป็นวาญิบ คือจำเป็นต้องทำ ทั้งนี้อาศัยความตามหลักฐานจากอัลกุรอานที่ว่า ( اَلأُضْحِيَةُ )
فَصَلِّ لِرَبَِكَ وَانْحَرْ
“ฉะนั้น เจ้าจงละหมาดและจงเชือดสัตว์ถวายแด่พระเจ้าของเจ้า ”
จากบทอัลเกาษัร โองการที่ 2
บรรดาซอฮาบะฮ์ผู้อาวุโสหลายท่านเช่น อาบูก้อตาดะฮ์,อิบนุอับบาส,ญาบิร,อิกริมะฮ์ อธิบายว่าหมายถึง การละหมาดอีดอัฎฮาและเชือดสัตว์กุรบาน และกฎที่ เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการโดยทั่ว ไป คือคำสั่งทุกคำสั่ง จะมีนัยยะของความจำเป็นต้องตอบสนอง ความจำเป็นดังกล่าวเรียกว่า วาญิบ และจากฮะดิษ ของท่านรอซูลอีก หลายบท เช่น รายงานของอาบีฮุรอยเราะฮ์ ท่านรอซูลกล่าวว่า
مَنْ كَانَ لَهُ سَعَةٌ وَلَمْ يُضَحِّ فَلاَ يَقْرَبَنَّ مُصَلاَّنَا
“ บุคคลใดที่มีความพร้อมและไม่ยอมเชือดสัตว์กุรบาน เขาจงอย่าเข้าใกล้บริเวณละหมาดของเรา เป็นอันขาด ”
จากบันทึกของอะหมัด และอิบนิมาญะฮ์
และอีกบทที่ว่า
يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّ عَلَى أَهْلِ كُلِّ بَيْتٍ فِيْ كُلِّ عَامٍ أُضْحِيَةً
“โอ้มวลมนุษย์เอ๋ยแน่นอนถือเป็นภาระของทุกครอบครัว ในแต่ละปีต้องเชือดอุฎหิยะฮ์ ”
จากบันทึกของอะหมัด,อาบีดาวู้ด,อัตติรมิซีย์, อันนะซาอีย์ และอิบนิมาญะฮ์
และตลอดระยะเวลาที่ท่าน รอซูลมีชีวิตอยู่นั้นไม่เคยงดการเชือดกุรบานเลยสักครั้งเดียว แม้แต่ระหว่างการเดิน ทางไกล ดังคำรายงานของเษาบานที่ว่า
ذَبَحَ رَسُوْلُ اللهِ أُضْحِيَتَهُ ثُمَّ قَالَ لِيْ : يَا ثَوْبَانُ ، إِصْلِحْ لَحْمَ هَذِهِ الضَّحِيَّةِ ، فَلَمْ أَزَلْ أُطْعِمُ رَسُوْلَ اللهِ مِنْهَا حَتَّى قَدِمَ الْمَدِيْنَة
“ครั้งหนึ่งท่านรอซูลเชือดอุฎหิยะฮ์ระหว่างการเดินทาง และใช้ให้เษาบานชำแหละเนื้อและเก็บรักษาไว้ ด้วยจำนวนหนึ่ง เษาบานจึงนำเนื้อนั้นมาปรุง เป็นอาหารให้ท่านรอซูลรับประทานตลอดเส้นทางจนกลับ ถึงมาดีนะฮ์ ”
จากบันทึกของอะหมัด,มุสลิมอาบูดาวู้ดและอันนะซาอีย์
2. ทรรศนะที่ 2
อิหม่ามอัชชาฟิอีย์,อะหมัด,มูฮำหมัด,อาบูยูซูฟและนักวิชาการอีกส่วนหนึ่ง มีทรรศนะว่า การเชือดสัตว์กุรบานนั้น เป็นซุนนะฮ์ประเภทมุอักก้าดะฮ์ ไม่ถึงระดับวาญิบที่จำเป็น และไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความพร้อม ด้านทุนทรัพย์ที่จะงด หรือไม่เชือดสัตว์กุรบานเมื่อถึงเทศกาลอีดอัฎฮา ทั้งนี้อาศัยความ ตามหลักฐานที่ว่าอิบนิ อับบาสกล่าวว่า ท่านรอซูลกล่าวว่า
ثَلاَثٌ كُتِبَتْ عَلَيَّ وَهُنَّ لَكُمْ تَطَوُّعٌ : اَلْوِتْرُ وَالنَّحْرُ وَرَكْعَتَا الْفَجْرِ
“สามประการที่เป็นภาระหน้าที่จำเป็นของเราเท่านั้น แต่เป็นตะเฏาวัวอ์ (กิจอาสา) สำหรับพวกท่าน นั่น คือละหมาดวิเตร, การเชือดสัตว์กุรบาน และการละหมาดซุนนะฮ์ก่อนซุบห์ ”
จากบันทึกของอัฎฎารุกุฏนีย์
และฮะดิษจากอุมมุสะละมะฮ์บทที่ว่า
إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ وَ أَرَادَ أَحَدُكُمْ أَنْ يُضَحِّيَ فَلْيُمْسِكْ عَنْ شَعْرِهِ وَعَنْ أَظْفَارِه
“บุคคลใดประสงค์จะเชือดสัตว์กุรบาน เมื่อเข้าสู่สิบวันต้นของเดือนซิลฮิจยะฮ์เขาจงงดการตัดผมและ ตัดเล็บ จนกว่าจะเสร็จสิ้น จากการ เชือดสัตว์กุรบานเสียก่อน ”
จากบันทึกของมุสลิมและอาบีดาวู้ด
และในบันทึกของอัลบัยฮะกีย์มีรายงานระดับหะซันบทหนึ่งระบุว่า “ท่านค่อลีฟะฮ์ อาบูบักร และค่อลีฟะฮ์อุมัร งดการเชือดกุรบานหลายครั้ง ด้วยเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจและสำคัญผิดว่าการเชือดสัตว์กุรบาน นั้นเป็นวาญิบ “
และทรรศนะที่มีน้ำหนักคืออุฎหิยะฮฺเป็นซุนนะฮฺมุอักก้าดะฮฺ
คุณค่า,ความประเสริฐและกุศลของการเชือดสัตว์กุรบาน
ส่วนคุณค่าและความประเสริฐต่าง ๆ หรือผลบุญและกุศลของการเชือดสัตว์กุรบานถวายแด่อัลลอฮ์นั้นมีมาก มายมหาศาล และนี่เป็นเพียงหลักฐานส่วนหนึ่ง ที่คัดลอกจากตำราบันทึกฮะดิษของนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน เช่นรายงานของพระนางอาอิชะฮ์ ท่านรอซูลกล่าวว่า
مَا عَمِلَ آَدمِيٌّ مِنْ عَمَلٍ يَوْمَ النَّحْرِ أَحَبَّ إِلَى اللهِ مِنْ إِهْرَاقِ الدَّمِ ، وَإِنَّهُ لَتَأْتِيْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ فِيْ فَرْشِهِ بِقُرُوْنِهَا وَأَشْعَارِهَا وَأَظْلاَفِهَا ، وَإِنَّ الدَّمَ لَيَقَعُ مِنَ اللهِ بِمَكَانٍ قَبْلَ أَنْ يَقَعَ مِنَ الأَرْضِ فَطِيْبُوْا بِهَا نَفْسً
“ย่อมไม่มีศาสนกิจอันใดอีกแล้วที่ผู้เป็นบ่าวปฏิบัติถวายแด่อัลลอฮ์ในวันอีดอัฎฮาแล้วพระองค์จะทรง โปรดเป็น พิเศษมากไปกว่าการ หลั่งเลือดด้วย การเชือดสัตว์กุรบาน และแน่นอนเลือดนั้นจะมาปรากฏ อีกครั้งในวันกิยามะฮ์ในร่างเดิมที่อ้วนพลี , พร้อมเขาที่สวยงาม, ปุยขนที่นุ่มและดกฟู และกีบเท้าที่แข็ง แกร่ง , และแน่นอนที่สุดหยดเลือดของสัตว์กุรบานทุก ๆ หยดจะหยดลงบนพื้นที่ของอัลลอฮ์ – หมายถึง สวรรค์ – ก่อนที่จะหยดลงถึงพื้นดิน ดังนั้นพวกท่านจงเต็มใจเชือดกุรบานเถิด ”
จากบันทึกของอัฏฏ็อบรอนีย์
และมีรายงานจากฮูเซ็นบุตรอาลี ท่านรอซูลเคยกล่าวว่า
مَنْ ضَحَّى طَيِّبَةً نَفْسُهُ مُحْتَسِبًا لأُضْحِيَتِهِ كَانَتْ لَهُ حِجَابًا مِنَ النَّارِ
“บุคคลใดเชือดสัตว์กุรบานด้วยความเต็มใจและมุ่งหวังในกุศลจากอัลลอฮ์ สัตว์กุรบานนั้นจะเป็นสิ่งปก ป้องเขาจากไฟนรก ”
จากบันทึกของอัฏฏ็อบรอนีย์
และมีรายงานจากอุรวะฮ์และซัยดิบ นิอัรก็อม ท่านรอซูลกล่าวว่า
( بِكُلِّ شَعْرَةٍ مِنَ الصُّوْفِ حَسَنَةٌ ) وفي لفظ الترمذي ( اَلأُضْحِيَةُ لِصَاحِبِهَا بِكُلِّ شَعْرَةٍ حَسَنَةً )
“ เส้นขนทุกๆเส้นของสัตว์กุรบาน มีความดี 1 ส่วนตอบแทนให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ ”
จากบันทึกของอัตติรมิซีย์, อิบนิมาญะฮ์และอัลฮาเก็ม ระบุว่าสายรายงานของฮะดิษถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ อัลบุคอรีย์ทุกประการ
ประเภทและลักษณะของสัตว์สำหรับเชือดกุรบาน
สัตว์ที่ศาสนาอิสลามมีบัญญัติให้เชือดสำหรับกุรบานนั้น ต้องเป็นประเภท”บะฮีมะตุลอันอาม” ( بهيمة الأنعام )เท่านั้น คือ อูฐ,วัว,แพะและแกะ โดยไม่ จำกัดหรือเลือกเพศของสัตว์ นักวิชา การส่วนมากเห็นชอบให้นับกระบือ (ควาย) รวมเป็นประเภทเดียวกับวัว ส่วนบางรายงานที่ระบุว่ามีซอฮาบะฮ์สาวก ของท่านรอซูลเชือดกุรบานด้วยไก่ หรือกวาง และสัตว์อื่น ๆ อีกนั้นเป็นรายงานที่ฎออีฟอ่อนมากๆ ( ฎ่ออีฟ หมายถึงอ่อนหลักฐานเพราะไม่ตรงตาม เกณฑ์มาตรฐาน จึงไม่ผ่านการพิจารณาด้วยหลายๆสาเหตุ)
และรายงานที่ระบุว่ามีซอฮาบะฮ์สาวกท่านรอซูลบางคน เช่นอับดุลลอฮิบนิอับบาส ใช้เงินซื้อเนื้อสดจากพ่อค้าเนื้อ ในตลาดและแจกเป็นกุรบานวันอีด ก็เป็นรายงานประเภทฎ่ออีฟอีกเช่น เดียวกัน และหากสมมุติว่ารายเหล่านั้นมีน้ำ หนักและแข็งแรงพอที่จะเป็นหลักฐานได้ ก็ยังมิได้หมายความว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นกุรบานหรืออุฎหิยะฮ์ได้ เพราะในสำนวนรายงานระบุว่าเป็นเพียงการซอดะเกาะฮ์เท่านั้น
สัตว์ที่ใช้เชือดกุรบานต้องมีอายุครบตามเกณฑ์กำหนด ดังนี้
1. อูฐ ต้องมีอายุครบ 5 ปี
2. วัว ต้องมีอายุครบ 2 ปี (ตามทรรศนะของนักวิชาการส่วนมาก เช่น อาบีฮานีฟะฮ์,อัชชาฟิอีย์และอะหมัด, ส่วนมาลิกมีทรรศนะว่าต้องมีอายุครบ 3 ปี )
3. แพะ ต้องมีอายุครบ 1 ปี และแกะต้องมีอายุครบ 6 เดือน
สัตว์ที่ใช้เชือดกุรบานต้องมีลักษณะที่สมบูรณ์สวยงามไม่พิกลพิการหรือมีตำหนิที่น่ารังเกียจอย่าง ชัดเจน เช่น ตาเขเสียอย่างน่าเกลียดหรือบอดข้างเดียว ป่วยอาการหนักมากขาเป๋ ขาหัก เขาหัก ผอมแห้งโซ ฟันหักหมด ทั้งปาก ไม่มีใบหู ปากแหว่ง หูแหว่ง จมูกแหว่ง หางขาด และอื่นๆอีก ที่เป็นตำหนิน่าเกลียด อย่างชัดเจน ดังรายงานจากบะรออฺบุตรอาซิบ ท่านรอซูลทรงกล่าวว่า
أَرْبَعٌ لاَ تَجُوْزُ فِيْ الأَضَاحِيْ الْعَوْرَاءُ الْبَيِّنُ عَوَرُهَا وَالْمَرِيْضَةُ الْبَيِّنُ مَرَضُهَا وَالْعَرْجَاءُ الْبَيِّنُ عَرَجُهَا وَالْعَجْفَاءُ الَّتِيْ لاَ تُنْقِيْ
“มีสัตว์สี่ประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำมาทำกอุฎหิยะฮ์ คือ สัตว์ที่ดวงตาเสียหนึ่งข้าง อย่างชัดเจน สัตว์ที่มี อาการเจ็บป่วยอย่างชัดเจน สัตว์ที่ขาพิการหนึ่งขาอย่างชัดเจน และสัตว์ที่ ผอมแห้งจนออกเดินหากิน เองไม่ได้ ”
จากบันทึกของอะหมัด,มุสลิม,อาบีดาวู้ด,อัตติรมิซีย์, อันนะซาอีย์และอิบนิมาญะฮ์
ท่านค่อลีฟะฮ์อาลีเคยกล่าวว่า
أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ أَنْ نَسْتَشْرِفَ الْعَيْنَ وَ الأُذُنَ وَلاَ نُضَحِّيَ بِعَوْرَاءَ وَلاَ مُقَابِلَةٍ وَلاَ مُدَابِرَةٍ
وَ لاَ خَرْقَاءَ وَلاَ شَرْقَاءَ
“ท่านรอซูลทรงกำชับให้พวกเราพิถีพิถัน โดยเลือกสัตว์ที่มีดวงตาและใบหูที่สมบูรณ์ ไม่พิกลพิการ ท่านห้ามพวกเราเชือดกุรบาน ด้วยสัตว์ที่ตาเขเสีย สัตว์ที่ใบหูถูกเฉือนจนขาด หรือหู ฉีกขาดหรือแม้กระ ทั่งมีใบหู่เป็นรูโหว่น่าเกลียด “
จากบันทึกของอะหมัด,อาบีดาวู้ด,อัตติรมิซีย์, อันนะซาอีย์และอิบนิมาญะฮ์
และยังมีรายงานอีกว่า
أَنَّ النَّبِيَّنَهَى عَنْ أَعْضَبِ الأُذُنِ وَالْقَرْنِ
“แท้จริงท่านนาบีทรงห้ามทำกุรบานด้วยสัตว์ที่ใบหูขาดแหว่งหรือเขาแตกหัก ”
จากบันทึกของอะหมัด,อาบีดาวู้ด,อัตติรมิซีย์และอันนะซาอีย์
ดังนั้นสัตว์ที่ประสงค์จะนำมาเชือดเป็นกุรบานจึงสมควรและจำเป็นจะต้องมีลักษณะ และรูปพรรณสริระที่สมบูรณ์ ที่สุด มีอายุครบบริบูรณ์ ร่างกายอ้วนพลี ไม่มีลักษณะพิกลพิการอย่าง น่าเกลียดแต่อย่างใด และสมควรเป็นสัตว์ที่ เนื้อมีรสชาตอร่อยนุ่มเมื่อนำไปปรุงรับประทานเป็นอาหาร
ส่วนกรณีที่สัตว์มีตำหนิเพียงเล็กน้อยไม่น่าเกลียดอนุญาตให้เชือดทำกุรบานได้ และหากผู้เป็นเจ้าของไม่ชอบใจ เมื่อสัตว์มีตำหนิเพียงเล็กน้อยให้เปลี่ยนตัวใหม่ ได้ทันที มีรายงานว่าอาบูบุรดะฮ์ปรึกษาท่านรอซูลว่า “ ข้าพเจ้าไม่ ประสงค์จะเชือดสัตว์ที่มีตำหนิตรงเขากับหู ” (ไม่สวยเพราะเล็กและสั้นกว่าปกติ) ท่านรอซูลจึงแนะนำว่า “เมื่อ ท่านประสงค์เช่นนั้นท่านก็ไม่ต้องเชือดมัน แต่ท่านอย่าห้ามผู้อื่นเชือดมัน ”
และหากสัตว์ที่ผู้เป็นเจ้าของเคยตั้งใจไว้ว่าจะเชือดทำกุรบาน แต่ต่อมาภายหลังสัตว์ตัวนั้นเกิดมีตำหนิที่น่าเกลียด ย่างชัดเจน จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นสัตว์ ตัวใหม่ทันที่ถ้ามีความสามารถพอ และหากไม่มีความสามารถพอก็อนุโลม ให้ใช้สัตว์ตัวเดิมได้ อินชาอัลลอฮ์ ดังมีรายงานจากอาบีสะอีดอัลคุดรีย์ว่า “ข้าพเจ้าเคยซื้อแกะไว้ตัวหนึ่งเพื่อ เชือดทำอุฎหิยะฮ์ แต่ต่อมาสุนัขจิ้งจอกได้กัดหางแกะจนขาดวิ่น ข้าพเจ้าจึงสอบถามจากท่านรอซูล ว่าจะสามารถ เชือดแกะตัวนั้นทำกุรบานได้อีกหรือไม่ ? อย่างไร ? ท่านรอซูลทรงตอบชี้แจงว่า “ มิเป็นไรหรอก ท่านจงเชือดแกะตัวนี้นทำกุรบานเถิด ”
สัตว์ประเภทใดที่สมควรเชือดเป็นกุรบานมากที่สุด?
นักวิชาการส่วนมากมีทรรศนะและความเข้าใจตรงกันว่า อูฐ เป็นสัตว์ที่สมควรเชือดเป็นกุรบานมากที่สุด รองจาก นั้นเป็นวัว,แกะและแพะตามลำดับ ทั้งนี้เพราะท่านรอซูลทรงเคยชี้แจงถึงผลบุญหรือกุศลสำหรับผู้ไปละหมาดวันศุกร์ อย่างเป็นลำดับตามความประเสริฐของการทำกุรบานไว้ดังนี้รายงานจาก อาบีฮุรอยเราะฮ์ ท่านรอซุลกล่าวว่า
مَنِ اغْتَسَلَ يَوْمَ الْجُمْعَةِ غَسْلَ الْجَنَابَةِ ثُمَّ رَاحَ فِيْ السَّاعَةِ الأُوْلَى فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَدَنَةً ، وَمَنْ رَاحَ فِيْ السَّاعَةِ الثَّانِيَّةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَقَرَةً ، وَمَنْ رَاحَ فِيْ السَّاعَةِ الثَّالِثَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ كَبْشًا أَقْرَنَ .. .. الخ )
“บุคคลใดอาบน้ำชำระร่างกายในวันศุกร์เหมือนการอาบน้ำวาญิบ ( เพื่อไปละหมาดญุมอะฮ์ ) จากนั้นเขา ออกไปมัสยิดตั้งแต่ชั่วโมงแรก เขาจะได้รับกุศลเหมือนทำกุรบานด้วยอูฐหนึ่งตัว และเมื่อเขาออกไป มัสยิดในชั่วโมงที่สองเขาจะได้รับกุศลเหมือนทำกุรบานด้วยวัวหนึ่งตัว และเมื่อเขาออกไปมัสยิดใน ชั่วโมงที่สามเขาจะได้รับกุศลเหมือนกับทำกุรบานด้วยแกะตัวงามหนึ่งตัว และเมื่อเขาออกไปมัสยิด ในชั่วโมงที่สี่ เขาจะได้รับกุศลเหมือนทำกุรบานด้วยไก่หนึ่งตัว .. .. ”
จากบันทึกของอะหมัด,อัลบุคอรีย์และมุสลิม
ส่วนอิหม่ามมาลิกมีทรรศนะและความเข้าใจว่า สัตว์ที่สมควรและเหมาะสมที่สุดสำหรับเชือดทำกุรบานคือ แกะ หรือแพะ รองจากนั้นคือวัวและอูฐตามลำดับ ด้วยเหตุผลที่ว่าท่านรอซูล เชือดกุรบานด้วยแกะหรือแพะเท่านั้น ซึ่งโดยปกติแล้วท่านรอซูลจะทำและสอนให้ทำแต่เฉพาะของที่ดีมีคุณค่าและผลบุญตอบแทน ที่สุดเท่านั้น และด้วยอีกเหตุผลที่ว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงเรียกสัตว์กุรบานที่ญิบรีลนำมาไถ่แลกตัวอิสมาอีลจากการเชือดของ อิบรอฮีมครั้งนั้นว่า ษิบหฺอะซีม ذِبْحٌ عَظِيْمٌ แปลว่า สัตว์เตรียมไว้เพื่อเชือดที่ยอดเยี่ยมที่สุด และอัลลอฮ์ทรง ประกาศให้วีรกรรมและเกียรติคุณครั้งนั้นหรือการเชือดสัตว์ ( ษิบหฺอะซีม ) ตัวนั้นเป็นเยี่ยงอย่างแกชนรุ่นหลังสืบไป ( โปรดดูอัลกุรอานบทอัสซอฟฟ้าต โองการที่ 107-108 )
สัตว์กุรบานสามารถแบ่งส่วนเพื่อให้กระจายทั่วถึงตามอัตราต่อไปนี้
อูฐ กระจายส่วนได้ 7 ส่วนตามทรรศนะของนักวิชาการส่วนมาก มีบางทรรศนะระบุว่า อูฐนั้นสามารถกระจาย ส่วนได้ถึง 10 ส่วน ( ในการนี้ท่านอิหม่ามอิบนุ ก็อยยิมอัลเญาซียะฮ์ได้อธิบายชี้แจง เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งระ หว่างทรรศนะที่ประกอบด้วยการอ้างอิงตัวบทหลักฐานที่ถูกต้องไว้ว่า อูฐนั้นสามารถกระจายเพิ่มเป็น 10 ส่วนได้ กล่าวคือ อูฐที่มีรูปร่างสัด ส่วนมาตรฐานทั่วไปกระจายได้เพียง 7 ส่วน และอูฐตัวใหญ่ ๆ มีสัดส่วนทีใหญ่โตกว่า ปกติทั่ว ไปกระจายได้ 10 ส่วน โดยอาศัยหลักฐานต่อไปนี้ มีรายงานว่าท่านสะอีดอิบนุลมุซัยยิบเคย กล่าวว่า
أَنَّ الْجَزُوْرَ عَنْ عَشْرَةٍ وَ الْبَقَرَةَ عَنْ سَبْعَةٍ
“แท้จริงอูฐหนึ่งตัวกระจายส่วนได้สำหรับ 10 คน และวัวหนึ่งตัวกระจายส่วนได้สำหรับ 7 คน ”
ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า
كُنَّا مَعَ النَّبِيْ فِيْ سَفَرٍ فَحَضَرَ الأَضْحَى فَاشْتَرَكْنَا فِيْ الْجَزُوْرِ عَنْ عَشْرَةٍ وَفِيْ الْبَقَرَةِ عَنْ سَبْعَة
“พวกเราร่วมเดินทางพร้อมกับท่านาบี เมื่อถึงวันอีดอัฎฮา พวกจึงเราร่วมกันเชือดกุรบานด้วยอูฐ 1 ตัว สำหรับจำนวน 10 คน และเชือดวัวอีก 1 ตัวสำหรับ 7 คน ”
จากบันทึกของอาบีดาวู้ด,อัตติรมิซีย์และอิบนิมาญะฮ์
ท่านรอฟิออฺเคยกล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ قَسَمَ فَعَدَلَ عَشْرَةً مِنَ الْغَنَمِ بِبَعِيْرٍ
“ท่านรอซูลทรงจัดสรรแบ่งปศุสัตว์ให้กับซอฮาบะฮ์ โดยกำหนดให้แพะและแกะ 10 ตัวเท่ากับอูฐ 1 ตัว”
จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม
และทรรศนะที่ท่านอิบนุลก็อยยิมนำเสนอเป็นทรรศนะที่ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิชาการจำนวนมาก เพราะเป็น การรวมหลัก ฐานเข้าด้วยกัน
1.วัว กระจายส่วนได้ 7 ส่วน ตามหลักฐานข้างต้น
2.แกะหรือแพะ ตัวละ 1 ส่วน
สัตว์กุรบานหนึ่งตัว สามารถเชือดให้กับสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด
ในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวมีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ สามารถเชือดสัตว์กุรบานด้วยส่วนของตนเองได้ เป็นการดีสำหรับเขา (อัฟฎ็อล) ที่จะเชือด สัตว์กุรบานด้วยส่วนของตนเองเป็นการเอกเทศ หากสมาชิกในครอบครัว ไม่มีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ ศาสนาเห็นชอบให้ผู้นำครอบครัวเชือดสัตว์กุรบานหนึ่งตัว สำหรับแทนสมาชิก ทั้งหมด แม้เพียงแกะหรือแพะหนึ่งตัวก็ใช้ ได้และสามารถแทนคนทั้งหมดได้แม้จะมีจำนวนมากก็ตาม ดังหลักฐาน เหล่านี้ อาอิชะฮ์กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ ضَحَّى عَنْ نِسَائِهِ بِالْبَقَرِ
“ท่านนาบีทรงเชือดวัว 1 ตัวเป็นกุรบานให้กับภรรยาทั้งหมด ”
ในบางรายงานจากพระนางอาอิชะฮ์ระบุเพิ่มเติมว่า
“ท่านรอซูลทรงเชือด แกะ 1 ตัวเป็นอุฎหิยะฮ์ให้ตัวเองและคนในครอบครัวทั้งหมด ”
จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม
และมีรายงานจากอิบนิชิฮาบว่า
مَا نَحَرَ رَسُوْلُ اللهِ عَنْ أَهْلِ بَيْتِهِ إِلاَّ بَدَنَةً وَاحِدَةً أَوْ بَقَرَةً وَاحِدَةً
“ท่านรอซูลนั้นไม่เคยเชือดกุรบานให้กับครอบครัวนอกจากด้วยการเชือดอูฐหรือวัวเท่านั้น ”
จากบันทึกของมาลิก
อับดุลลอฮ์อิบฮิชาม กล่าวอีกว่า
كَانَ رَسُوْلُ اللهِ يُضَحِّيْ بِالشَّاةِ الْوَاحِدِةِ عَنْ جَمِيْعِ أَهْلِهِ
“ท่านรอซูลทรงเชือดแกะ 1 ตัวเป็นอุฎหิยะฮ์ให้กับคนในครอบครัวทั้งหมด ”
จากบันทึกของอัลฮาเก็ม
ลักษณะวิธีการเชือดสัตว์กุรบาน
เวลาเชือดสัตว์กุรบาน เริ่มเข้าเวลาเชือดตั้งแต่อิหม่ามเสร็จพิธีละหมาดอีด ผู้ใดเชือดกุรบานก่อนอิหม่ามเสร็จจาก พิธีละหมาดอีด การเชือดกุรบานครั้งนั้นถือเป็น การเชือดสัตว์แบบธรรมดาเท่านั้น ไม่ถือเป็นกุรบานแต่อย่างใด และจำเป็นต้องเชือดใหม่แทน
مَنْ صَلَّى صَلاَتَنَا وَنَسَكَ نُسُكَنَا فَقَدْ أَصَابَ النُّسُكَ وَمَنْ ذَبَحَ قَبْلَ أَنْ يُصَلِّيَ فَلْيُعِدْ مَكَانَهَا أُخْرَى
“ บุคคลใดละหมาดอีดเช่นที่เราละหมาด เชือดสัตว์กุรบานเช่นที่เราเชือด ถือว่าการเชือดกุรบานของ เขาถูกต้องแล้ว และบุคคลใดเชือด สัตว์กุรบานก่อนละหมาดอีด เขาจงกลับมาเชือดตัวใหม่อีกครั้ง แทนตัวเดิม ”
จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม
وَمَنْ ذَبَحَ قَبْلَ ذَلِكَ فَإِنَّمَا هُوَ لَحْمٌ قَدَّمَهُ لأَهْلِهِ لَيْسَ مِنَ النُّسُكِ فِيْ شَيْء
“บุคคลใดเชือดสัตว์กุรบานก่อน ( อิหม่าม ) เสร็จพิธีละหมาด นั่นเป็นเพียงเนื้อธรรมดาที่เขามอบให้คนใน ครอบครัวได้กินกัน หาได้เป็นเนื้อกุรบานแต่ประการใดไม่ ”
จากบันทึก ของอัลบุคอรีย์และมุสลิม
مَنْ ضَحَّى قَبْلَ الصَّلاَةِ فَإِنَّمَا ذَبَحَ لِنَفْسِهِ وَمَنْ ذَبَحَ بَعْدَ الصَّلاَةِ فَقَدْ تَمَّ نُسُكُهُ وَأَصَابَ سُنَّةَ الْمُسْلِمِيْن
“บุคคลใดเชือดสัตว์กุรบานก่อน ( อิหม่าม ) เสร็จพิธีละหมาดอีด นั่นเท่ากับว่าเขาเชือดให้ตัวเองเท่านั้น และใครเชือดหลังจากเสร็จ พิธีละหมาดอีด ถือว่าการเชือดกุรบานของเขาครบสมบูรณ์แล้ว และตรงตาม ลักษณะวิธีปฏิบัติของมุสลิมทั่วไป ”
จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม
และการเชือดกุรบานจะหมดเวลาเมื่อดวงอาทิตย์วันสุดท้ายของตัชรีก (วันที่ 13 ซิลฮิจยะฮ์) ลับขอบฟ้า ดังหลักฐานต่อไปนี้ ท่านรอซูลกล่าวว่า
عَرَفَةُ كُلُّهَا مَوْقِفٌ وَأَيَّامُ التَّشْرِيْكِ كُلُّهَا مَنْحَر
“บริเวณทุ่งอะรอฟะฮ์ทั้งหมดเป็นบริเวณวู่กูฟ และตัชรีกทั้งหมด ( 11-13 ซิลฮิจยะฮ์ ) เป็นวันเวลาสำหรับ เชือดกุรบาน ”
จากบันทึกของอัลอิบนิหิบบานและอัลบัยฮะกีย์
أَيَّامُ مِنَى كُلُّهَا مَنْحَرٌ
“และวันมินาทั้งหมด (หมายถึงวันตัชรีกทั้ง 3 วัน) เป็นวันเวลาสำหรับเชือดกุรบาน ”
จากบันทึกของอะหมัดและอัลบัยฮะกีย