ชีวะประวัติของอิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัล(อีหม่ามฮัมบาลี)
ชีวะประวัติของอิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัล
………อิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัล เกิดเมื่อเดือนรอบีอุลเอาวัล ฮ . ศ . 164 เกิดที่นครบัฆดาดท่านมีนามเต็มว่า อบูอับดุลลอฮฺ อัหมัด อิบนฺ มุหัมมัด อิบนฺ ฮัมบัล อิบนฺ ฮิลาล อิบนฺ อะซัด อิบนฺ อิดรีส อิบนฺ อับดุลลอฮฺ
………บิดาของท่านได้สิ้นชีพตั้งแต่ท่านอายุยังเยาว์วัย อิบนฺหัมบัลมีฐานะยากจน ซึ่งท่านมีเพียงบ้านเล็กๆหลังเดียวเท่านั้นชีวิตของอิหม่ามอิบนฺหัมบัลดำเนินไปด้วยความยากลำบาก ท่านต้องหางานทําเพื่อเลี้ยงชีพด้วยความขยันขันแข็ง ท่านเคยรับจ้างเย็บผ้าบางครั้งท่านก็เก็บของเหลือจากไร่หลังจากเจ้าของได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว ซึ่งท่านทำโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของไร่ ท่านเคยท่อผ้าขาย และเคยเป็นกรรมกร ท่านเป็นคนที่ไม่เลือกงานหากงานนั้นไม่เป็นที่ห้ามของศาสนา
………ตามประวัติของท่านยังระบุอีกว่า อิหม่ามอัหมัดได้มีโอกาสเดินทางไปบำเพ็ญฮัจญ์ ณ นครมักกะฮฺถึงห้าครั้งแต่ในจำนวนนี้ท่านเดินทางโดยไม่อาศัยพาหนะถึง 3 ครั้ง ถึงแม้ว่าท่านเป็นคนจนท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
การศึกษา
………ท่านอิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัลเป็นคนที่มองเห็นความสำคัญของการศึกษา ด้วยเหตุนั้นท่านมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาแสวงหาวิชาความรู้ถึงแม้ว่าท่านเป็นคนจนแต่ความยากจนนั้น ไม่สามารถที่จะกั้นขวางการศึกษาของเขาได้ ท่านเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะและใฝ่ฝันสูงในด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่งท่านได้ท่องจำอัลกุรอานตั้งแต่อายุเพียง 1 ปี และด้วยความมุ่งมั่นทางด้านการศึกษานี้เองทำให้ท่านได้เดินทางเพื่อแสวงหาวิชาความรู้ไปตามตัวเมืองต่างๆ เช่น ไปศึกษายังนครมักกะฮฺ มาดีนะฮฺ เยเมน กูฟะฮฺ และ บัสเราะฮฺ ทั้ง ๆที่ท่านมีฐานะยากจน
ครูบาอาจารย์
………ท่านได้ศึกษาวิชาหะดีษและฟิกฮฺกับอบียูซุฟ ยะกูบ อิบนฺ อิบรอฮีม และท่านได้ศึกษาหะดีษกับฮาชิม อิบนฺ บะชีร อัลวาซิฏีย์เป็นเวลา 4 ปีท่านได้ศึกษาหะดีษจากอาจารย์ท่านนี้มากกว่าสามพันตัวบทหะดีษ ซึ่งท่านฮาชิมเป็นอิหม่ามหะดีษที่นครบัฆดาด และเป็นอุลามาอฺท่านหนึ่งจากบรรดาตาบีอีน
………นอกจากท่านได้ศึกษาจากฮะชิมแล้ว อิบนฺ หัมบัลยังได้ศึกษากับอะมีร อิบนฺ อับดุลลอฮ อิบนฺ คอลิด อับดุรเราะห์มาน อิบนฺ มะฮฺดี และอบีบักร อิบนฺ อิยาซ
………ครูบาอาจารย์ของอิหม่ามอิบนฺหัมบัลที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ อิหม่ามซาฟีอี ท่านได้ศึกษากับอิหม่ามซาฟีอีเป็นครั้งแรกที่นครมักกะฮฺ เมื่ออิบนฺหัมบัลไปบำเพ็ญฮัจญ์ที่นั้นซึ่งในขณะนั้นอิหม่ามซาฟีอีกำลังสอนอยู่ในมัสยิดฮะรอม และอิบนฺหัมบัลยังได้ไปศึกษากับอิบรอฮีม อิบนฺ ซะอด์ ยะฮยา อัลก็อฏฏอน อิหม่ามอัหมัดยังมีความตั้งใจที่จะไปศึกษากับอิหม่ามมาลิกแต่อิหม่ามมาลิกได้เสียชีวิตไปก่อน
สานุศิษย์
ศิษย์ของท่าน อิหม่ามอัหมัดที่สำคัญก็คือ ยะฮยา อิบนุ อาดัม อับดุรเราะห์มาน อิบนฺ ฮัมดี ยะซีด อิบนฺฮารูน อาลีอิบนฺ อัลมะดีนี มุฮัมมัด อิบนฺ อิสฮาก อบูฮาชิม อัรรอศีพ และ บรรดาอุลามาอฺท่านอื่นๆอีกจำนวนมาก
การทรมานท่านอิหม่าม
………หากเราศึกษาประวัติของอุลามาอฺ เราได้เห็นว่าอุลามาอฺส่วนใหญ่ได้เผชิญกับภัย คุกคามต่าง ๆ นานาเช่นเดียวกับอิหม่ามอัหมัดอิบนฺหัมบัล ท่านก็ได้เผชิญกับการทรมานอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากความยึดมั่นในการศัทธา ความขัดแย้ง เกี่ยวกับอัลกุรอานที่ว่าอัลกุรอานนั้นเป็นมัคลูกหรือไม่ ซึ่งในยุดของท่านอิหม่ามอัหมัดอิบนฺหัมบัล ได้มีแนวคิดที่ถือว่า อัลกรุอานนั้นเป็นมัคลูก กล่าวคืออัลกุรอาน มีสถานภาพเช่นเดียวกับบรรดาสรรพสิ่งต่างๆที่ถูกสร้างขึ้นในโลกนี้ และได้มีผู้คนที่ยึดถือแนวคิดและทัศนะดังกล่าว แนวคิดเช่นนี้เกิดขึ้นในสมัย ของคอลีฟะฮฺ อัลมะมูน แห่งราชวงค์ อัลอับซียะฮฺ ซึงเป็นผู้ที่ยึดมั่นในแนวคิดของ มุอฺตาซิละฮฺ บุคคลซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่ถือว่า อัลกรุอานเป็นมัคลูกนั้น คืออัหฺมัด อิบนฺ อบี คิอาด เขาเป็นผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับคอลีฟะฮฺอัลมะมูนมากที่สุด และเขายังได้รับการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวจากบรรดาฟุกอฮะอฺทำให้อุลามาอฺและบรรดาผู้ที่มีความรู้อื่นๆ จำต้องก้มศีรษะยอมรับแนวคิดนั้นด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจ และ เกรงกลัวต่อการถูกทรมานหากคัดค้านหรือต่อต้าน
………แต่อิหม่ามอัหมัด ปฏิบัติตรงกันข้าม ท่านปฏิเสธ แนวคิด หรือ การศรัทธาดังกล่าวโดยไม่หวาดเกรงต่ออำนาจใด ๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้อิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัลถูกควบคุมตัวเพื่อนําไปเฝ้าคอลีฟะฮฺ อัลมะมูน แต่ในระหว่างการคุมตัวไปนั้นคอลีฟะฮฺอัลมะมูน ได้สินพระชนน์ไปเสียก่อน ท่านอิหม่ามจึงตกเป็นผู้ต้องหาที่คอยการพิจารณาจากคอลีฟะฮฺองค์ใหม่ที่จะขึ้นครองราช ก่อนที่คอลีฟะฮฺอัลมะมูนจะสิ้นพระชนน์ คอลีฟะฮฺอัลมะมูนได้สั่งเสียไว้กับ มุอฺตาศิม พระอนุชาซึ่งเป็นทายาทแห่งราชบังลังก์ให้ยึดตามแนวคิดหรือทัศนะที่ว่า อัลกรุอานเป็นมัคลูก ดังนั้นเมื่อมุตาศิมขึ้นครองเป็นคอลีฟะฮฺ ก็ได้รับสั่งให้เบิกตัวท่านอิหม่ามอัหมัดเข้าเฝ้า และได้บีบบังคับให้ท่านยอมรับแนวคิดและทัศนะว่าอัลกุรอานมีสถานภาพเป็นมัคลุค แต่อิหม่ามอัหมัดก็ยื่นยันทัศนะของท่านไม่เปลี่ยนแปลง จนในที่สุดท่านถูกลงโทษ โดยการเฆี่ยนด้วยแซ่จนกระทั้งอิหม่าม สิ้นสติไปหลายครั้ง
การเสียชีวิตท่านอิหม่าม
………อิหม่ามอัหมัด อิบนฺ หัมบัล ได้เสียชีวิตลงเมื่อวัน ศุกร์ที่ 12 เดือน รอบีอุลเอาวัล ปี ฮ . ศ . 241 ที่นคร บัฆดาด ( แบกแดด ) และได้ทำการละหมาดญานาซะฮ์ของท่านที่นั้นหลังจากการละหมาดวันศุกร์ ซึ่งท่านมีอายุ 77 ปี
อะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบัล เป็นปราชญ์ผู้นำด้านนิติศาสตร์อิสลามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง สำหรับแนวนิติศาสตร์ของเขามีผู้ปฏิบัติตามน้อยกว่าสามสำนักใหญ่ แต่ก็มีผู้ปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์ เรียกสำนักนิติศาสตร์ของเขาว่า มัซฮับ ฮัมบะลียฺ